ประเภทของนม

นมสด (Whole milk) 
เป็นนมที่รีดมาจากแม่วัวโดยตรง เป็นนมที่หอมมันอร่อยทีสุด ยังมีไขมันและสารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งในปัจจุบันอาจหาดื่มได้ค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่ที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตมักเป็นนมสดที่นำมาผ่านกรรมวิธีให้ความร้อนเพื่อกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำนมเสียก่อน ซึ่งนมสดก็จะมีการแบ่งเกรดตามคุณภาพน้ำนม ยกอย่างเช่น นมดิบเกรด  A คือนมที่รีดมาจากวัวที่ถูกเลี้ยงอย่างถูกสุขอนามัย ผ่านการตรวจสอบแล้วว่ามีจุลินทรีย์อยู่ไม่เกิน  200,000 โคโลนีต่อนม 1 มิลลิลิตร เป็นนมที่เหมาะแก่การนำไปผลิตเป็นนมสดพาสเจอร์ไรซ์


นมสดพาสเจอร์ไรซ์ (Pasteurized milk) 
นมสด 100% ที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนต่ำแต่ใช้เวลานาน คือไม่ต่ำกว่า 63-65  องศาเซลเซียส  เป็นเวลานาน 30 นาที หรือทำให้ร้อนไม่ต่ำกว่า 72 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานอย่างน้อย 16 นาที เมื่อผ่านความร้อนครบตามเวลาที่กำหนดไว้แล้ว ก็ทำให้เย็นลงทันที ที่อุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิตู้เย็น) โดยนมชนิดนี้จะมีไขมันอยู่ประมาณ 3.8%

ข้อดี นมพาสเจอร์ไรซ์เป็นนมมีคุณค่าทางอาหาร ใกล้เคียงกับนมโคสดมากที่สุดและยังมีรสชาติสดอร่อยอีกด้วย  อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่านมสดพาสเจอร์ไรซ์จะเป็นนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ก็ควรใช้เลี้ยงเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป เด็กแรกเกิดถึง 1 ขวบควรได้รับการเลี้ยงดูดด้วยน้ำนมแม่ ที่นอกจากมีสารอาหารครบถ้วนแล้ว ยังมีภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับทารกอีกด้วย
ข้อเสีย กรรมวิธีการพาสเจอร์ไรซ์นั้นสามารถทำลายจุลินทรีย์ได้เพียงแค่บางชนิด เช่นจุลินทรีย์ที่เป็นโทษต่อร่างกาย แต่ไม่สามารถกำจัดจุลินทรีย์ที่ทำให้นมเน่าเสียได้ ดังนั้นจึงต้องเก็บนมพาสเจอร์ไรซ์ไว้ในที่อุณหภูมิ 0-4 องศาเซลเซียส (ตู้เย็น)ตลอดเวลา หลังจาก 3-5 วัน เชื้อจุลินทรีย์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่อาจเพิ่มจำนวนขึ้นจนทำให้นมบูดได้ แต่ถ้าเปิดขวดแล้วควรดื่มให้หมดภายใน 2 วัน 


นมสเตอริไลซ์ (Sterilized milk) 
คือนมสด 100% ที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 118 องศาเซลเชียส โดยใช้เวลานาน 12 นาที ความร้อนสูงของระบบสเตอริไลซ์จะสามารถทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคและจุลินทรีย์ที่ทำให้นมเน่าเสีย นมชนิดนี้จึงสามารถเก็บได้นานกว่า 1 ปีโดยไม่ต้องแช่เย็น คุณภาพของน้ำนมเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก แต่ปริมาณวิตามินบีต่างๆอาจจะลดลง

ข้อดี เก็บได้นานโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น แต่ถ้าเปิดกล่องแล้วดื่มไม่หมด ควรนำไปแช่ในตู้เย็น
ข้อเสีย รสชาติ ความสด อร่อยน้อยกว่า เมื่อเทียบนมพาสเจอร์ไรซ์ 


นมยูเอชที ( UHT หรือ Utra High Temperature milk)
เป็นนมสดที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 135-150  องศาเซลเชียส เป็นเวลานาน 2-3  วินาที แล้วนำมาบรรจุด้วยขบวนการปลอดเชื้อ ระบบยูเอชทีจะใช้อุณหภูมิสูงแต่ระยะเวลาการฆ่าเชื้อที่สั้นมากเพื่อไม่ให้คุณภาพของน้ำนมเปลี่ยนแปลงไป เป็นระบบที่สามารถกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้เกือบทั้งหมด สามารถเก็บได้นานถึง 6-9 เดือน โดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น

ข้อดี เก็บที่อุณหภูมิห้องได้นาน แต่ถ้าเปิดกล่องแล้วดื่มไม่หมดก็ควรนำไปแช่ในตู้เย็นนะคะ
ข้อเสีย รสชาติ ความสด อร่อยน้อยกว่า เมื่อเทียบกับนมพาสเจอร์ไรซ์ ดังนั้นเราจะว่ามีการปรุงแต่งเพื่อให้มีรสชาติอร่อยขึ้น


นมไขมันต่ำ หรือนมพร่องมันเนย (Low Fat milk) 
คือนมสดที่ถูกแยกไขมันออกไปบางส่วน ยกตัวอย่างเช่น Low Fat 2% จะแยกเอาไขมันออกไปจนเหลือแค่ 2% เป็นนมที่ให้พลังงานต่ำ ข้อดีคือปริมาณโปรตีน แคลเซี่ยม แมกนีเซี่ยม วิตามินเค ยังคงใกล้เคียงกับนมสดทั่วๆ ไป นมชนิดนี้จึงเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักหรือคนที่มีปัญหาเรื่องไขมันในเส้นเลือดสูง ข้อเสียคือไม่หมาะกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะไขมันเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตที่เร็วของสมองเด็ก


นมพร่องขาดมันเนย (Skim milk หรือ Non Fat Milk)
นมขาดมันเนย หรือนมไร้ไขมันแบบที่เห็นบนฉลากเขียนว่า ไขมัน 0% เป็นนมที่ผ่านขบวนการสกัดแยกมันเนยออกเกือบทั้งหมด หรือมีไขมันเพียงแค่ 0.15% จะเรียกว่าหางนมก็ว่าได้ เหมาะสำหรับกลุ่มผู้บริโภคผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงไขมัน อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่า วิตามิน  A D E K นั้นเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ถ้าไขมันยิ่งน้อยมากเท่าไหร่ก็อาจจะทำให้ปริมาณวิตามินเหล่านี้จะมีน้อยตามลงไปด้วย


นมปรุงแต่ง (Flavored Milk) 
คือที่นำมาผ่านกรรมวิธีการผลิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น UHT หรือสเตอริไลซ์ แล้วปรุงแต่งกลิ่น สี รสชาติเข้าไป ทำให้น่ารับประทานมากขึ้น


นมข้นจืด (Condensed milk) 
เป็นนมที่ผ่านขบวนการระเหยเอาน้ำบางส่วนออกไป ประมาณ 60% ทำให้นมเข้มข้นขึ้นเป็นสองเท่าของนมสด  ได้แก่นมที่นำปรุงอาหารต่างๆ เช่นใส่ชานมเย็น ต้มยำน้ำข้น ถ้านำนมข้นจืดมาเติมน้ำมันปาล์มลงไปจะเรียกว่านมข้นแปลงไขมันชนิดไม่หวาน (ไม่ควรใช้กับเด็กทารกหรือเด็กอายุไม่ต่ำกว่า 2 ปี เพราะมีกรดไขมันจำเป็น วิตามินบางชนิดต่ำกว่า) แต่ถ้าเติมไขมันเนยลงไปจะเรียกว่า นมข้นคืนรูปไม่หวาน  


นมข้นหวาน (Sweetened Condensed milk) 
เป็นนมที่เรานำมาปรุงแต่งอาหารเช่น ใส่ในกาแฟแทนน้ำตาลกับครีม มาจากนมที่ระเหยเพื่อเอาน้ำบางส่วนออกไป หรืออาจใช้นมผงขาดมันเนยละลายผสมกับไขมันปาล์ม หรือไขมันเนย แล้วแต่ยี่ห้อม มีการปรุงแต่งให้มีรสหวานขึ้นโดยเติมน้ำตาลประมาณ 45-55% ซึ่งนับว่าเป็นนมที่มีน้ำตาลในปริมาณสูง นมชนิดนี้ไม่เหมาะที่จะนำไปเลี้ยงเด็กทารก เพราะว่ามีโปรตีนและสารอาหารที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของเด็กน้อยอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก


นมเปรี้ยว (Yoghurt หรือ Fermented milk) 
นมโคสดที่ผ่านกระบวนการหมักด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างเชื้อจุลินทรีย์แลกโตบาซิลลัส นมเปรี้ยวจะย่อยง่ายกว่านมประเภทอื่นๆ เป็นนมที่ช่วยให้กระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานได้เป็นปรกติ เหมาะสำหรับคนท้องผูกเพราะมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ไม่ควรนำนมชนิดนี้ไปเลี้ยงเด็กทารก ควรเก็บในตู้เย็นหรืออุณหภูมิไม่เกิน 10 องศาเซลเซียสตลอดเวลาและควรดื่มภายใน 7 วัน


นมผงธรรมดา (Dried หรือPowder milk)
คือนมสดที่ผ่านกรรมวิธีระเหยน้ำออกเกือบหมด เหลือน้ำอยู่เพียงไม่ 3-5% การระเหยเอาน้ำออกยิ่งมาก ก็ยิ่งเก็บไว้ได้นาน และนมชนิดนี้จะสูญเสียวิตามินบี ๑ และวิตามินซีไปในระหว่างกรรมวิธีการผลิต


นมผงขาดมันเนย (Dried skim milk)
นมผงขาดมันเนย หรือนมผงพร่องมันเนย (Non Fat Dried milk) เป็นนมผงที่ผ่านขบวนการสกัดไขมันบางส่วนออกไป มีราคาถูกกว่านมผงธรรมดา บางทีก็เรียกชื่อนมผงชนิดนี้ว่า หางนม นมผงขาดมันเนยมีไขมันและวิตามินที่ละลายในไขมันน้อยกว่านมผงธรรมดา จึงให้พลังงานน้อยกว่า แต่ยังมีโปรตีน แคลเซียม และสารอาหารใกล้เคียงกัน นมชนิดนี้ไม่เหมาะสำหรับเด็ก เพราะเด็กควรได้รับไขมันที่จะไปช่วยในการเจริญเติบโตของสมอง


นมผงดัดแปลงสำหรับทารก (Humanized หรือ Modified milk)
เป็นนมผงที่ถูกทำให้มีลักษณะคล้ายนมมารดา บางยี่ห้อจะมีการเติมวิตามินและเกลือแร่ ยกตัวอย่างเช่น วิตามินดี เหล็ก และวิตามินซี ให้มีมากกว่านมมารดา เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของร่างกายของทารก เมื่อทารกมีอายุได้ประมาณ ๑๐ เดือน หรือหนึ่งขวบขึ้นไป ให้เปลี่ยนไปดื่มนมผงชนิดธรรมดา